April 4, 2007

7 Habits ฉบับย่อสุดสุด

อุปนิสัยที่ดี 7 ประการ ของบุคคลผู้มีประสิทธิภาพสูง

รศ.ดร.พรรรณราย ทรัพยะประภา

สตีเฟน อาร์ โควีย์ (Stephen R.Covey) ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงมากทั่วโลกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "The Seven Habits of Highly Effective People" ในปี ค.ศ.1989 เป็นหนังสือที่อยู่ในระดับ "ขายดีมากที่สุด" (Best seller) ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 14 เดือน ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ไปทั่วโลก

โควีย์ กล่าวว่าบุคลที่จะได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้มีประสิทธิภาพสูง ควรจะฝึกตนเองให้มีคุณสมบัติที่เป็น อุปนิสัยประจำตน 7 ประการ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นฝ่ายรุก (Be proactive) ริเริ่ม ตอบสนอง และสร้างสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น ตระหนักว่าตนเอง มีอิสระที่จะเลือก มีสติสัมปชัญญะต่อตนเอง พัฒนาความรู้และความซื่อสัตย์ต่อการเลือกต่างๆ นั้น หมายความว่า เมื่อได้ตัดสินใจเลือกว่าจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ก็แสวงหาความรู้และยึดมั่นต่อการกระทำต่างๆที่เกี่ยวข้อง กับการเลือกนั้น

(2) เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายในใจ (Begin with the end in mind) เริ่มต้นด้วยการสร้างภาพลักษณ์ (Images) หรือ ตัวอย่าง(Paradigm) ของตนเองไว้ในใจ ให้มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนว่า ตนเองจะไปที่ใด ขณะนี้อยู่ที่ใด และการจะไปสู่เป้าหมายที่ต้องการนั้น จะต้องนำอะไรไปด้วยบ้าง ความเป็นผู้นำเป็นสิ่งสำคัญมาก ในเรื่องนี้

(3) ทำในสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำก่อนเป็นสิ่งแรก (Put First Things First) ฝึกฝนการบริหารตนเองอย่างมีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอทุกๆวัน วินัยในตนเองเกิดจากภายในตนเองและวัดผลด้วยความซื่อสัตย์ในตนเอง บุคคลผู้ประสบความสำเร็จสูงทั้งหลาย ตัดสินใจในเรื่องปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้เกิดผลสำเร็จตามที่ต้องการ จัดการ บริหารเวลาให้เหมาะสม และยึดมั่นอยู่กับเป้าหมายประจำ ในแต่ละสัปดาห์ต่อวินัย ความสำคัญก่อนหลัง และวิสัยทัศน์

(4) คิดอย่างชนะ/ชนะ (Think Win/Win) ให้มีขอบเขตในใจ แสวงหาวิธีการช่วยให้ทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง ในกิจการงานต่างๆ มีความรู้สึกราวกับว่าเป็นผู้ชนะ นั่นคือได้รับผลประโยชน์ต่างๆ ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทุกๆ ฝ่ายมีความรู้สึกดีๆต่อการตัดสินใจต่างๆที่ได้กระทำร่วมกันและรับผิดชอบร่วมกันต่อการกระทำที่จะให้บรรลุผลสำเร็จตามแผนที่ได้ตัดสินใจนั้นๆ กุญแจสำเร็จคือ การร่วมมือกัน

(5) แสวงหาความเข้าใจก่อน แล้วจึงทำตนให้ผู้อื่นเข้าใจ (Seek First to Understand, Then Be Understood) ฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการฟังอย่างเข้าใจเพื่อว่าจะได้เข้าใจผู้อื่นตามขอบเขตในใจของเขา การฟังนั้นมิใช่การฟังด้วยหูแต่เพียงอย่างเดียวแต่เป็นการฟังด้วยตาและด้วยหัวใจ ต่อจากนั้นให้แสดงความคิด เห็นและทัศนะต่างๆของตนเองอย่างมีเหตุผล ชัดเจน เฉพาะเจาะจง และในขอบเขตแห่งความเข้าใจผู้อื่นเป็นสำคัญ

(6) มีกำลังใจดี (Synergize) สร้างทางเลือกใหม่ๆ โดยให้ละทิ้งส่วนที่สบาย (Comfort Zone) ของตนเอง เพื่อเผชิญความท้าทายใหม่ๆและที่ไม่รู้มาก่อน ให้คุณค่าต่อความแตกต่าง ยอมรับนับถือความแตกต่าง เหล่านั้นและใช้ความแตกต่างนั้นๆ ในการสร้างความแข็งแกร่งให้ตนเอง ให้ละทิ้งบทชีวิต (Life seript) เช่น ความเกียจคร้าน เก่าๆ ไปเสียและเขียนบทใหม่ๆ ขึ้นมา ความจำกัดต่างๆของเราเองย่อมเกิดขึ้นจากจินตนา การของเราเอง ทั้งนั้น พัฒนาความสร้างสรรค์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผู้อื่น ปลดปล่อยพลังใหม่ๆ ออกมา และสร้างทางเลือกใหม่ๆ และน่าตื่นเต้นให้เกิดขึ้นแต่ชีวิตของตนเอง

(7) ดูแลตนเองให้ดีเสมอ (Sharpen the Saw) ใช้เวลาดูแลส่วนดีๆ ของตนเองไว้ ใช้เวลาดูแลสุขภาพของตนเองทั้งด้านร่างกาย สมอง สังคม/อารมณ์ และความต้องการด้านจิตใจ (spiritual needs) หรือการยึดมั่นในหลักศาสนาของตน การนำผู้อื่นนั้นต้องการพลังงานมากมาย ให้มีความพยายามอย่างสม่ำเสมอ ที่จะจัดการกับความต้องการทางสุขภาพ เป็นตัวอย่างที่ดีในเทคนิคของการดูแลตนเอง สร้างความมั่นใจต่อผู้อื่น ว่าเขามีคุณค่าและควรให้คุณค่าผู้อื่นด้วย ให้มีความสุขและฉลองความสำเร็จ